วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ข้อแนะนำในการกู้เงินเพื่อการซื้อบ้าน#3

เงื่อนไขการให้สินเชื่ออื่นๆ ได้แก่

- วงเงินกู้ โดยทั่วไป สถาบันการเงินจะให้กู้ประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าประเมิน หรือราคาซื้อขายบ้าน (สุดแล้วแต่ค่าใดจะต่ำกว่า)
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยบางประเภท เช่น เงินกู้สวัสดิการแก่พนักงานบริษัท ข้าราชการ
หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาจจะมีการให้กู้สูงถึงร้อยละ 90 หรือ 100%

- ระยะเวลากู้ ในอดีตการกู้เงิน มักจะกำหนดระยะเวลากู้ได้นานประมาณ 15 - 20 ปี อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน
ธนาคารอาคารสงเคราะห์และสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะให้กู้ได้นานถึง 30 ปี ทั้งนี้
ยิ่งกู้นาน เงินงวดที่ผ่อนชำระรายเดือนก็จะยิ่งลดลง อย่างไรก็ตาม
สถาบันการเงินส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้ระยะเวลากู้เมื่อรวมกับอายุผู้กู้แล้ว ไม่เกิน 70 ปี
เช่น หากอายุ 55 ปี จะกู้ได้สูงสุด 15 ปี เป็นต้น

- เงินงวดชำระหนี้ ปกติ เงินงวดชำระหนี้ มักจะกำหนดจ่ายเป็นเงินรายเดือนที่แน่นอน หากผู้กู้ชำระหนี้รายเดือนสม่ำเสมอ
เงินกู้นั้นจะหมดเมื่อครบสัญญากู้ อย่างไรก็ตาม กรณีกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว สถาบันการเงินบางแห่งอาจคิดเงินงวดเผื่อไว้
โดยการคำนวณเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตามประกาศ เช่น อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 6.5% ต่อปี
เวลาคิดคำนวณเงินงวด อาจจะคิดที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 1-2% โดยคิดที่อัตราดอกเบี้ย 7.5% หรือ 8.5% เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในภายหลัง ผู้กู้จะได้ไม่ต้องชำระเงินงวดเพิ่มขึ้น
เพราะคิดเผื่อไว้แล้ว แต่หากอัตราดอกเบี้ยในภายหลังไม่เพิ่มขึ้น หรือกลับลดลง เงินงวดที่คุณชำระเกินไว้
ก็จะไปตัดหนี้เงินต้นมากขึ้นกว่าปกติ และจะทำให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา

- การตัดเงินต้น-ตัดดอกเบี้ยของเงินงวด โดยทั่วไป เงินงวดที่ชำระหนี้รายเดือน
จะประกอบด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน และเงินต้นบางส่วน ทั้งนี้ เงินงวดในปีแรกๆของการชำระหนี้
จะเป็นการชำระดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ และจะเป็นการตัดเงินต้นเพียงเล็กน้อย แต่ในปีหลังๆ เงินต้นจะถูกตัดมากขึ้นตามลำดับ
ทำให้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนค่อยๆลดลงตามลำดับ จนกระทั่งเป็นศูนย์ในปีสุดท้ายของสัญญากู้
ในกรณีที่ผู้กู้ กู้เงินแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว สถาบันการเงินมักจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้สามารถชำระเงินงวดเพิ่มสูงกว่าปรกติได้
ซึ่งเงินที่ชำระเกินนั้น ก็จะไปตัดหนี้เงินต้นลง ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตาม
กรณีกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยทั่วไป สถาบันการเงินมักจะกำหนดให้ชำระเท่ากันทุกเดือน ไม่สามารถชำระมากกว่าได้
การให้บริการของสถาบันการเงิน ในการเลือกกู้กับสถาบันการเงินใด นอกจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่างๆแล้ว
ผู้กู้อาจจะพิจารณาปัจจัยประกอบด้านอื่นๆด้วย
เช่น...
1) ความสะดวกในการยื่นกู้
ได้แก่ ผู้กู้สามารถเดินทางยื่นกู้ยังสำนักงานธนาคารหรือที่อื่นๆ ได้อย่างสะดวก ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
2) ความรวดเร็วในการอนุมัติกู้
ได้แก่ ผู้กู้สามารถทราบผลการยื่นกู้ หรือได้รับเงินกู้ได้รวดเร็วตามที่ต้องการ เช่น ในสองสัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้น
3) ความสะดวกในการชำระหนี้เงินกู้
เช่น ผู้กู้สามารถชำระหนี้ผ่านบัญชีของสาขาธนาคารต่างๆได้อย่างกว้างขวาง
4) การต้อนรับและให้บริการที่ดีของพนักงาน
เช่น การต้อนรับและอำนวยความสะดวกต่างๆของพนักงาน ความมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี และการให้บริการต่างๆอย่างเต็มใจ รวดเร็ว และประทับใจ
5) การให้ความรู้และคำปรึกษาแนะนำดี
ี เช่น การให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะเกี่ยวกับการขอสินเชื่อในด้านต่างๆอย่าง จริงใจ และเป็นมิตรไมตรี
6) ชื่อเสียง ภาพพจน์ และความมั่นคงของธนาคาร
ได้แก่ การมีภาพพจน์ที่ดี ความมีชื่อเสียงมายาวนานในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย และความมั่นคงของธนาคาร

4. การยื่นกู้
หลังจากที่คุณพิจารณาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการให้กู้ และการให้บริการต่างๆแล้ว คุณก็จะสามารถเลือกกู้กับสถาบันการเงินที่คุณพอใจต่อไป ซึ่งในการนี้ จะมีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

4.1 การเตรียมหลักฐานประกอบคำขอกู้ ในการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน หรืออาคารชุด สถาบันการเงินมักจะกำหนดให้ผู้ขอกู้ จะต้องนำหลักฐานต่างๆต่อไปนี้โดยครบถ้วน ได้แก่
1) หลักฐานประจำตัว ได้แก่
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัว
- ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า หรือใบมรณะบัตร
- สำเนาเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)

ไม่มีความคิดเห็น: