3. การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขการกู้ และการให้บริการต่างๆ
การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการกู้ระหว่างสถาบันการเงินต่างๆนั้น ค่อนข้างจะซับซ้อนพอ สมควร ดังนั้น เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับเงินกู้ดีขึ้น จึงขอนำเสนอรายการหลักๆประกอบการพิจารณา ดังนี้ ประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เงินกู้ที่เสนอในตลาด มักมีอัตราดอกเบี้ยหลายแบบแตกต่างกัน ให้ลูกค้าเลือก ดังนี้
1) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan)
หมายถึงเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว คืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนด
ณ ปัจจุบัน ตามประกาศนั้น จะใช้ไประยะหนึ่ง และต่อมาภายหลัง (ในช่วง 20-30 ปี)
อาจปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งการปรับใหม่นี้ จะปรับเมื่อใดนั้น
ไม่สามารถจะทราบได้ ในบางปี อาจมีการปรับหลายครั้ง บางปีไม่มีการปรับเปลี่ยนเลยก็ได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย
อาจส่งผลกระทบต่อเงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือนได้ โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในภายหลัง
เงินงวดที่ชำระรายเดือนเดิมอาจต้องมีการปรับสูงขึ้นได้
2) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan)
2.1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้ หมายถึงเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือตายตัวตามประกาศของสถาบันการเงิน
ณ ขณะกู้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน
ดังนั้น เงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือน ก็จะคงที่ตลอดระยะเวลากู้นาน 5-10-15-20 ปี ตามแต่ผู้กู้จะเลือก
2.2 อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
หมายถึงเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี หลังจากนั้น จะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว
ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมก็ได้ ทั้งนี้ จะเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ณ ขณะนั้น
2.3 อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันใดในช่วงแรกจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
หมายถึงเงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี แต่ในระหว่างนี้ อาจกำหนดคงที่แบบขั้นบันได
เช่น คงที่ 3 ปี ปีแรกเท่ากับ 3.25% ปีที่สอง 4.25% ปีที่สาม 5.25% เป็นต้น หลังจากนั้น
จะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่เดิมก็ได้
ทั้งนี้ จะเป็นไปตามสถานการณ์ตลาดเงินหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ณ ขณะนั้น
3) เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่งและปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา (Rollover Mortgage Loan)
หมายถึงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี และปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา 3 หรือ 5 ปี
ตลอดระยะเวลากู้นาน 25-30 ปี ตัวอย่างเช่น สินเชื่อเคหะรวมใจ ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
ปล่อยกู้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละช่วงจะคงที่โดยอิงกับต้นทุนพันธบัตรที่บวก 2.5% เช่น หากต้นทุนพันธบัตร 5%
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเท่ากับ 7.5% เป็นต้น เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ
เมื่อคุณทราบประเภทเงินกู้แบบต่างๆที่สถาบันการเงินเสนอให้บริการแล้ว ต่อมาคุณจะต้องพิจารณา เปรียบเทียบ
"อัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ" ว่าที่ไหนให้เท่าใด สูงต่ำกว่ากันอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไป หากเป็นเงินกู้ประเภทเดียวกัน
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
จะทำให้เงินงวดรายเดือนที่ผ่อนชำระต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การกู้เงินมิใช่การกู้ระยะสั้นเพียง 2-3 ปี เท่านั้น
หากเป็นการกู้นานถึง 20-30 ปี ดังนั้น คุณจะต้องดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายสินเชื่อของสถาบันการเงินในระยะยาวด้วย
นอกจากนั้น ยังต้องพิจารณาดูเงื่อนไขการกู้ การให้บริการ และค่าใช้จ่ายการกู้อื่นๆ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการกู้
ในการกู้เงิน นอกจากจะต้องดูเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว คุณจะต้องดูค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย ได้แก่
- ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน โดยปกติ สถาบันการเงินจะมีการคิดค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน
ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะคิดไม่เท่ากัน
- ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะคิดค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ หรือ อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น
ค่าธรรมเนียมการวิเคราะห์สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ เป็นต้น แต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ไม่คิดค่าธรรมเนียมนี้
- ค่าธรรมเนียมจดจำนองกับกรมที่ดิน ในการกู้เงิน หลังจากได้รับเงินกู้แล้ว จะต้องมีการจดทะเบียนจำนองกับกรมที่ดิน
ซึ่งผู้กู้มีภาระต้องจ่ายค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ของวงเงินกู้ ตามกฎหมาย
- ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด (prepayment penalty) สถาบันการเงินส่วนใหญ่
จะคิดค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด โดยเฉพาะหากมีการชำระหนี้ทั้งหมด
เพื่อปิดบัญชีและไถ่ถอนจำนองออกไปภายในระยะเวลา 3 ปีแรกของการกู้เงิน ทั้งนี้ แต่ละแห่งจะคิดมากน้อยแตกต่างกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น